May 08, 2005
หวงวิชา
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1289 ประจำวันที่ 29 เม.ย.-5 พ.ค. 2548
ผมได้ยินตั้งแต่เล็กว่า คนไทยหวงวิชา รู้อะไรแล้วก็ไม่ยอมบอกคนอื่นง่าย ๆ จึงเป็นสาเหตุทำให้วิชาความรู้ในบ้านเมืองเราไม่เจริญ
ฟังปั๊บก็รู้ได้ทันทีนะครับว่า นี่เป็นคำอธิบายความไม่เจริญ (ทัดเทียม) ฝรั่งในด้านวิชาความรู้ของไทย ฉะนั้น คำอธิบายนี้ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม ย่อมปลอบใจคนไทยไปพร้อมกัน
ผมมาสนใจว่าจริงหรือไม่เอาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว นั่นคือเริ่มจากการมองหาหลักฐาน เช่นคำสั่งสอนในสมัยโบราณที่ว่ารู้อันนี้แล้ว อย่าเที่ยวไปบอกใครเชียวนะ ไปจนถึงระแวดระวังไม่ให้คนอื่นได้รู้อะไรที่ตัวรู้อยู่ ผมไม่พบหลักฐานโบราณสักชิ้นเดียว ไม่ว่าในวรรณกรรมหรือเอกสารประเภทอื่น จนมาถึงประมาณสมัย ร.5 ลงมา
แปลว่าไม่มีหลักฐานว่าคนไทยรุ่นก่อนหน้านั้นหวงวิชา
ก็พระเจ้าแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างวัดโพธิ์ ด้วยตั้งพระทัยจะรวบรวมสรรพวิชาความรู้เท่าที่จะสืบหามาได้ในสมัยนั้น รวบรวมขึ้นไว้สำหรับการที่คนทั่วไปจะได้เรียนรู้ตามความปรารถนา แล้วจะบอกว่าหวงวิชาได้อย่างไรครับ
อย่างไรก็ตาม คนที่เชื่อว่าคนไทยหวงวิชาก็ยังอธิบายได้อยู่ดีว่า ให้ดูวัดโพธิ์นั่นแหละเป็นพยาน จะเห็นว่าสรรพวิชาความรู้ที่รวมไว้ในนั้นล้วนเป็นความรู้ชั้นพื้น ๆ ซึ่งใคร ๆ เขาก็รู้กันหมดแล้วทั้งนั้น ไม่มีดุษฎีบัณฑิตคนไหนยอมปล่อยความรู้ระดับลึกในทางโหราศาสตร์, การแพทย์ หรืออักษรศาสตร์ออกมาสู่สาธารณะเลย
ฟังน่าระย่อมากนะครับ และผมเองก็ระย่ออยู่เป็นนานจนแก่ป่านนี้ เพราะไม่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ไทยโบราณ, โหราศาสตร์ไทยโบราณ, แพทย์แผนไทยโบราณ, อักษรศาสตร์ไทยโบราณ ฯลฯ พอที่จะประเมินได้ว่า ความรู้ในจารึกวัดโพธิ์นั้นผิวเผินจริงหรือไม่
แต่บัดนี้ก็แก่จนได้ที่แล้ว จึงหมดความระย่อลงไปและอยากตั้งคำถามว่า อ้ายความรู้ที่ว่าลึกนักลึกหนาซึ่งไม่กล้าเผยแพร่ให้ใครรู้นั้นคืออะไร? ผมไม่เคยได้ยินสักเรื่องเดียวเลย เช่นมีกลอนกลบทอะไรที่เขาผูกกันมาแต่โบราณ ซึ่งไม่ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์บ้าง? ก็ไม่เห็นมีนะครับ
ส่วนจะบอกว่าความรู้ที่วัดโพธิ์ให้ไว้นั้น ไม่ทำให้ใครสามารถผูกกลบทใหม่ของตัวขึ้นได้ นั่นอาจจะจริงหรือไม่จริงผมไม่แน่ใจ เพราะโบราณเชื่อว่าเรียนของเก่าให้เจนจัดแล้ว ก็จะสร้างของใหม่ได้เอง ถึงเีรยนกลบทโบราณแล้วไม่ทำให้ใครผูกกลบทใหม่ได้จริง ก็เป็นเพราะปรัชญาการศึกษาของไทยโบราณไม่ได้ต้องการให้เกิดการคิดสิ่งใหม่ นับเป็นคนละเรื่องกับหวงวิชา
ว่าเฉพาะแขนงความรู้ที่ผมพอมีโอกาสได้อ่านเอกสารบ้าง คือการแพทย์แผนไทย ผมก็ไม่เคยเห็นความรู้อะไรที่ลึกซึ้งที่ถูกเก็บงำเอาไว้ไม่ยอมให้เผยแพร่ในจารึกวัดโพธิ์สักชิ้นเดียว
จริงอยู่หรอกครับ ตัวยาสำหรับแก้โรคลงท้อง อาจแตกต่างกันในแต่ละตำรับ รวมไปถึงสัดส่วนของตัวยาที่ใช้ วิธีปรุงไปจนถึงวิธีกิน และวิธีเสกคาถาปิดปากหม้อยา ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แม้แต่การแบ่งสาเหตุของการลงท้องว่ามีกี่อย่างก็อาจไม่เหมือนกันด้วย แต่ทุกตำรับก็มีหลักการตรงกันที่พยายามสร้างสมดุลของธาตุทั้งสี่ในร่างกายเหมือนกันทั้งนั้น
ตำรับที่ไม่อยู่ในจารึกวัดโพธิ์ดีกว่าหรือไม่ ผมไม่ทราบ และเชื่อว่าคนโบราณก็ไม่ทราบชัดเหมือนกัน แต่ละสำนักคงอ้างว่าของตัวเด็ดดวงกว่าสำนักอื่นทั้งนั้น แต่เราไม่เคยมีการประเมินสัมฤทธิผลของตำรับยาอย่างเป็นระบบในสมัยโบราณ ฉะนั้น ที่ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์จึงเป็นตำรับที่ดีที่สุดหรือคนทำเชื่อว่าดีที่สุด (เช่นเป็นของหมอหลวง) แต่อาจไม่ได้ผลจริงก็ได้
ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะหวงวิชา
ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ถ้ารวบรวมตำรับยาทั้งคนบอกผีบอกในเมืองไทย ซึ่งอุตสาห์เก็บกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรกระจายกันในการครอบครองของบุคคล, ของวัด และของราชการแล้ว ก็จะพบปริมาณมากมายเหลือคณานับ เขาจะลงมือเขียนเอาไว้ทำไม นอกจากเก็บความรู้เหล่านั้นไว้ไม่ให้สูญหายและเผยแพร่ให้แก่คนอื่น ๆ ซึ่งอ่านหนังสือออกและสนใจเรื่องนี้ได้รู้นั่นเอง
ฉะนั้น จึงไม่มีการหวงวิชา อย่างน้อยก็ในหมู่ประชากรที่อ่านหนังสือออก (ซึ่งอาจมีไม่ถึงครึ่ง) อย่างแน่นอน
ประเพณีเรียนหนังสือที่เล่ากันมาก็เหมือนกัน อยากเรียนหนังสือก็เอาพ่อแม่ไปประกอบพิธีกรรมกับครู เสีย "ค่ายกครู" ซึ่งแทบไม่มีค่างวดอะไรในพิธีกรรม แล้วก็ได้เรียนหนังสือ ประเพณีอย่างนี้ฟังดูไม่น่าจะเป็นไปได้ในวัฒนธรรมหวงวิชาเลยนะครับ เอาลูกเข้าสาธิตหรือสวนกุหลาบปัจจุบันยังยากกว่ากันเป็นแสนเท่า
ตรงกันข้ามกับที่ประกาศกันมา ผมกลับคิดว่าการหวงวิชาเป็นผลผลิตของโลกสมัยใหม่ต่างหาก คนที่หวงวิชาที่สุดในโลกเวลานี้ คือฝรั่งในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งพยายามจะสร้างระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เอาเปรียบคนอื่น ๆ ทั้งโลก เพราะความรู้ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่กลายเป็นสินค้าร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นไปไม่ได้ในระบบสังคมของโลกสมัยใหม่ ที่จะหวงความรู้เอาไว้แต่ผู้เดียว จึงต้องจดสิทธิบัตรความรู้เอาไว้ให้ขายกินกำไรได้นาน ๆ หรือแบ่งความรู้ออกขายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพื่อทำกำไรได้มากกว่า
จริงอยู่หรอกครับ ที่ฝรั่งรู้จักการขยายความรู้ให้แพร่หลายในหมู่ประชาชน (popularization of knowledge) มาก่อนไทย จึงดูเหมือนไม่ได้หวงวิชา แต่ที่คนไทยไม่ได้ขยายความรู้ให้แพร่หลาย ก็ไม่ใช่เพราะหวงวิชาหรอก ก็มีปัญญาความสามารถจะขยายได้แค่นั้น คือเขียน (เพราะยังไม่มีการพิมพ์) ลงสมุดเก็บไว้หรือถวายวัด (ซึ่งคือการเผยแพร่อย่างหนึ่ง) อีกทั้งไม่มีเงื่อนไขปัจจัยอะไรในสังคมไทยโบราณ ที่จะต้องขยายความรู้ให้แพร่หลายอย่างกว้างขวางเท่าสังคมฝรั่งด้วย
กล่าวโดยสรุปก็คือ การหวงวิชาเกิดขึ้นเมื่อวิชากลายเป็นสินค้า หรือมีผลประโยชน์ทางการค้าเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรู้และการใช้ความรู้ต่างหาก
และการหวงวิชาในลักษณะนี้ ได้ยินได้ฟังกันในเมืองไทยมากก็หลัง ร.5 มาแล้วทั้งนั้น วิชาหนึ่งที่หวงกันมาก คือวิชาที่เอาออกไปขายได้โดยตรง ได้แก่ศิลปะการแสดงทั้งหลาย เพราะหนึ่งในธุรกิจที่เฟื่องฟูขึ้นในระยะแรกที่ชาวนา (ภาคกลาง) ได้กำไรดีจากการทำนาส่งออกคือธุรกิจบันเทิง
การประชันวงปี่พาทย์ซึ่งเริ่มจะดุเดือดมากขึ้น ก็เริ่มในสมัยนี้ เพราะชัยชนะหมายถึงตลาดที่กว้างขึ้นและมั่นคงขึ้นของวง หรือหมายถึงการอุปถัมภ์ที่มีราคาแพงขึ้น จึงต้องสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย
เช่นเดียวกับหนังตะลุง, ลำตัด, เพลงฉ่อย และต่อมาก็ลิเก ต่างต้องหวงลูกเล่น หวงกลเม็ดเด็ดพราย รวมทั้งหวงตัวพระตัวนาง เพราะล้วนเป็นการแข่งขันกันเพื่อหากำไรในตลาดทั้งสิ้น
ผมคิดว่า ตำนานเรื่องคนไทยหวงวิชาเกิดขึ้นในช่วงนี้ เมื่อวิชาต่าง ๆ กลายเป็นสินค้าได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าวิชาทำว่าว (ขาย), วิชาทำตะกร้อ (ขาย), วิชาทำขนม (ขาย), วิชา ฯลฯ ซึ่งสามารถทำขายได้
แต่ลองไปดูวิชาความรู้ที่ยังไม่กลายเป็นสินค้าดูเถิดครับ ผมเห็นของชาวบ้านไทยแม้จนถึงทุกวันนี้ ไม่เห็นจะหวงอะไรเลย บางกรณียังอุตส่าห์หาทางเผยแพร่วิชาเหล่านั้นฟรี ๆ เสียด้วยซ้ำ ชาวบ้านปากมูลระดมกำลังคนเฒ่าคนแก่มารวบรวมความรู้เกี่ยวกับปลาในลำน้ำมูล (ตามวิธีจำแนกแบบชาวบ้าน ไม่ใช่แบบสัตวศาสตร์ของฝรั่ง - ซึ่งขายได้) กันจนได้ประเภทของปลาเกือบจะเท่ากับที่นักวิทยาศาสตร์เคยรวบรวมไว้ได้ ไม่เห็นหวงวิชาอะไรเลย
ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า ในทุกสังคม (และคงจะทุกสมัย) ความรู้กับสถานภาพทางสังคมแยกออกจากกันยาก เ่ช่นในเมืองไทยคงเป็นไม่ได้ที่จะมีนักเปียโนฝีมือระดับโลกที่มาจากสลัม ถึงจะมีทุนเรียนเปียโนแจกฟรีให้แก่เด็กเยอะแยะแค่ไหนก็ตาม เพราะสิ่งแรกที่เด็กซึ่งจะเป็นนักเปียโนระดับโลกต้องมี คือเปียโนที่บ้านครับ
ฉะนั้น จึงมีวิชาบางชนิดในสังคมโบราณที่เขาไม่เปิดเผยแก่คนทั่วไปอยู่บ้าง ผมจัดวิชาเหล่านี้ว่า เป็นวิชาแห่งอำนาจ เช่น ไสยศาสตร์ เป็นต้น แต่ก็ไม่ใช่การหวงวิชาอยู่ดีนะครับ เพราะที่เขาต้องปิดบังความรู้ทางไสยศาสตร์กันก็เพราะมันมีอันตราย เที่ยวแจกจ่ายให้คนไม่เลือกหน้าไม่ได้ จึงต้องมีข้อกำกับทางศีลธรรมของความรู้ทางไสยศาสตร์ เพื่อไม่ให้อำนาจตกอยู่ในมือของคนชั่ว
วิชาบางอย่างก็อาจต้องหวงไว้สำหรับตระกูล เพราะไปเกี่ยวกับสถานะทางสังคม (ซึ่งก็คืออำนาจในอีกรูปหนึ่ง) เช่นเป็นโหราจารย์ในราชสำนัก หรือเป็นหมอผีของสังคมชนเผ่าบางสังคม
หมอผี เป็นสถานะทางอำนาจอย่างแน่นอน ในบางชนเผ่าจึงใช้วิธีสืบทอดสถานะนี้ผ่านทางสายโลหิต (คล้ายกับพราหมณ์) บางชนเผ่าใช้การเลือกจากคนที่มีลักษณะพิเศษบางอย่าง เอามาฝึกปรือจนสามารถทำหน้าที่ของหมอผีได้ และได้สืบทอดตำแหน่งต่อไป แต่ความรู้ที่จะเป็นหมอผี ย่อมไม่ใช่ความรู้สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงหมด
เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก แต่กรณีเช่นนี้ การหวงวิชาไม่ใช่บุคคลเป็นผู้หวงเพียงคนเดียว แท้จริงแล้วสังคมทั้งสังคมนั่นแหละที่ต้องหวงเอาไว้กับบางคนเท่านั้น เพราะการกระจายความรู้โดยไม่เลือก ย่อมกระทบต่อโครงสร้างสังคมทั้งหมด
คนไทยปัจจุบันจึงหวงวิชากว่าคนไทยในอดีต และฝรั่งหวงวิชากว่าไทย เพราะฝรั่งมีวิชาที่ต้องหวงมากกว่าไทย และนั่นคือวิชาที่เป็นสินค้าขายดีในตลาด
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1289 ประจำวันที่ 29 เม.ย.-5 พ.ค. 2548
ผมได้ยินตั้งแต่เล็กว่า คนไทยหวงวิชา รู้อะไรแล้วก็ไม่ยอมบอกคนอื่นง่าย ๆ จึงเป็นสาเหตุทำให้วิชาความรู้ในบ้านเมืองเราไม่เจริญ
ฟังปั๊บก็รู้ได้ทันทีนะครับว่า นี่เป็นคำอธิบายความไม่เจริญ (ทัดเทียม) ฝรั่งในด้านวิชาความรู้ของไทย ฉะนั้น คำอธิบายนี้ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ก็ตาม ย่อมปลอบใจคนไทยไปพร้อมกัน
ผมมาสนใจว่าจริงหรือไม่เอาเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว นั่นคือเริ่มจากการมองหาหลักฐาน เช่นคำสั่งสอนในสมัยโบราณที่ว่ารู้อันนี้แล้ว อย่าเที่ยวไปบอกใครเชียวนะ ไปจนถึงระแวดระวังไม่ให้คนอื่นได้รู้อะไรที่ตัวรู้อยู่ ผมไม่พบหลักฐานโบราณสักชิ้นเดียว ไม่ว่าในวรรณกรรมหรือเอกสารประเภทอื่น จนมาถึงประมาณสมัย ร.5 ลงมา
แปลว่าไม่มีหลักฐานว่าคนไทยรุ่นก่อนหน้านั้นหวงวิชา
ก็พระเจ้าแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างวัดโพธิ์ ด้วยตั้งพระทัยจะรวบรวมสรรพวิชาความรู้เท่าที่จะสืบหามาได้ในสมัยนั้น รวบรวมขึ้นไว้สำหรับการที่คนทั่วไปจะได้เรียนรู้ตามความปรารถนา แล้วจะบอกว่าหวงวิชาได้อย่างไรครับ
อย่างไรก็ตาม คนที่เชื่อว่าคนไทยหวงวิชาก็ยังอธิบายได้อยู่ดีว่า ให้ดูวัดโพธิ์นั่นแหละเป็นพยาน จะเห็นว่าสรรพวิชาความรู้ที่รวมไว้ในนั้นล้วนเป็นความรู้ชั้นพื้น ๆ ซึ่งใคร ๆ เขาก็รู้กันหมดแล้วทั้งนั้น ไม่มีดุษฎีบัณฑิตคนไหนยอมปล่อยความรู้ระดับลึกในทางโหราศาสตร์, การแพทย์ หรืออักษรศาสตร์ออกมาสู่สาธารณะเลย
ฟังน่าระย่อมากนะครับ และผมเองก็ระย่ออยู่เป็นนานจนแก่ป่านนี้ เพราะไม่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์ไทยโบราณ, โหราศาสตร์ไทยโบราณ, แพทย์แผนไทยโบราณ, อักษรศาสตร์ไทยโบราณ ฯลฯ พอที่จะประเมินได้ว่า ความรู้ในจารึกวัดโพธิ์นั้นผิวเผินจริงหรือไม่
แต่บัดนี้ก็แก่จนได้ที่แล้ว จึงหมดความระย่อลงไปและอยากตั้งคำถามว่า อ้ายความรู้ที่ว่าลึกนักลึกหนาซึ่งไม่กล้าเผยแพร่ให้ใครรู้นั้นคืออะไร? ผมไม่เคยได้ยินสักเรื่องเดียวเลย เช่นมีกลอนกลบทอะไรที่เขาผูกกันมาแต่โบราณ ซึ่งไม่ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์บ้าง? ก็ไม่เห็นมีนะครับ
ส่วนจะบอกว่าความรู้ที่วัดโพธิ์ให้ไว้นั้น ไม่ทำให้ใครสามารถผูกกลบทใหม่ของตัวขึ้นได้ นั่นอาจจะจริงหรือไม่จริงผมไม่แน่ใจ เพราะโบราณเชื่อว่าเรียนของเก่าให้เจนจัดแล้ว ก็จะสร้างของใหม่ได้เอง ถึงเีรยนกลบทโบราณแล้วไม่ทำให้ใครผูกกลบทใหม่ได้จริง ก็เป็นเพราะปรัชญาการศึกษาของไทยโบราณไม่ได้ต้องการให้เกิดการคิดสิ่งใหม่ นับเป็นคนละเรื่องกับหวงวิชา
ว่าเฉพาะแขนงความรู้ที่ผมพอมีโอกาสได้อ่านเอกสารบ้าง คือการแพทย์แผนไทย ผมก็ไม่เคยเห็นความรู้อะไรที่ลึกซึ้งที่ถูกเก็บงำเอาไว้ไม่ยอมให้เผยแพร่ในจารึกวัดโพธิ์สักชิ้นเดียว
จริงอยู่หรอกครับ ตัวยาสำหรับแก้โรคลงท้อง อาจแตกต่างกันในแต่ละตำรับ รวมไปถึงสัดส่วนของตัวยาที่ใช้ วิธีปรุงไปจนถึงวิธีกิน และวิธีเสกคาถาปิดปากหม้อยา ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน แม้แต่การแบ่งสาเหตุของการลงท้องว่ามีกี่อย่างก็อาจไม่เหมือนกันด้วย แต่ทุกตำรับก็มีหลักการตรงกันที่พยายามสร้างสมดุลของธาตุทั้งสี่ในร่างกายเหมือนกันทั้งนั้น
ตำรับที่ไม่อยู่ในจารึกวัดโพธิ์ดีกว่าหรือไม่ ผมไม่ทราบ และเชื่อว่าคนโบราณก็ไม่ทราบชัดเหมือนกัน แต่ละสำนักคงอ้างว่าของตัวเด็ดดวงกว่าสำนักอื่นทั้งนั้น แต่เราไม่เคยมีการประเมินสัมฤทธิผลของตำรับยาอย่างเป็นระบบในสมัยโบราณ ฉะนั้น ที่ปรากฏในจารึกวัดโพธิ์จึงเป็นตำรับที่ดีที่สุดหรือคนทำเชื่อว่าดีที่สุด (เช่นเป็นของหมอหลวง) แต่อาจไม่ได้ผลจริงก็ได้
ถึงกระนั้น ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะหวงวิชา
ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ถ้ารวบรวมตำรับยาทั้งคนบอกผีบอกในเมืองไทย ซึ่งอุตสาห์เก็บกันไว้เป็นลายลักษณ์อักษรกระจายกันในการครอบครองของบุคคล, ของวัด และของราชการแล้ว ก็จะพบปริมาณมากมายเหลือคณานับ เขาจะลงมือเขียนเอาไว้ทำไม นอกจากเก็บความรู้เหล่านั้นไว้ไม่ให้สูญหายและเผยแพร่ให้แก่คนอื่น ๆ ซึ่งอ่านหนังสือออกและสนใจเรื่องนี้ได้รู้นั่นเอง
ฉะนั้น จึงไม่มีการหวงวิชา อย่างน้อยก็ในหมู่ประชากรที่อ่านหนังสือออก (ซึ่งอาจมีไม่ถึงครึ่ง) อย่างแน่นอน
ประเพณีเรียนหนังสือที่เล่ากันมาก็เหมือนกัน อยากเรียนหนังสือก็เอาพ่อแม่ไปประกอบพิธีกรรมกับครู เสีย "ค่ายกครู" ซึ่งแทบไม่มีค่างวดอะไรในพิธีกรรม แล้วก็ได้เรียนหนังสือ ประเพณีอย่างนี้ฟังดูไม่น่าจะเป็นไปได้ในวัฒนธรรมหวงวิชาเลยนะครับ เอาลูกเข้าสาธิตหรือสวนกุหลาบปัจจุบันยังยากกว่ากันเป็นแสนเท่า
ตรงกันข้ามกับที่ประกาศกันมา ผมกลับคิดว่าการหวงวิชาเป็นผลผลิตของโลกสมัยใหม่ต่างหาก คนที่หวงวิชาที่สุดในโลกเวลานี้ คือฝรั่งในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งพยายามจะสร้างระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่เอาเปรียบคนอื่น ๆ ทั้งโลก เพราะความรู้ในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่กลายเป็นสินค้าร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นไปไม่ได้ในระบบสังคมของโลกสมัยใหม่ ที่จะหวงความรู้เอาไว้แต่ผู้เดียว จึงต้องจดสิทธิบัตรความรู้เอาไว้ให้ขายกินกำไรได้นาน ๆ หรือแบ่งความรู้ออกขายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เพื่อทำกำไรได้มากกว่า
จริงอยู่หรอกครับ ที่ฝรั่งรู้จักการขยายความรู้ให้แพร่หลายในหมู่ประชาชน (popularization of knowledge) มาก่อนไทย จึงดูเหมือนไม่ได้หวงวิชา แต่ที่คนไทยไม่ได้ขยายความรู้ให้แพร่หลาย ก็ไม่ใช่เพราะหวงวิชาหรอก ก็มีปัญญาความสามารถจะขยายได้แค่นั้น คือเขียน (เพราะยังไม่มีการพิมพ์) ลงสมุดเก็บไว้หรือถวายวัด (ซึ่งคือการเผยแพร่อย่างหนึ่ง) อีกทั้งไม่มีเงื่อนไขปัจจัยอะไรในสังคมไทยโบราณ ที่จะต้องขยายความรู้ให้แพร่หลายอย่างกว้างขวางเท่าสังคมฝรั่งด้วย
กล่าวโดยสรุปก็คือ การหวงวิชาเกิดขึ้นเมื่อวิชากลายเป็นสินค้า หรือมีผลประโยชน์ทางการค้าเข้ามาเกี่ยวข้องกับความรู้และการใช้ความรู้ต่างหาก
และการหวงวิชาในลักษณะนี้ ได้ยินได้ฟังกันในเมืองไทยมากก็หลัง ร.5 มาแล้วทั้งนั้น วิชาหนึ่งที่หวงกันมาก คือวิชาที่เอาออกไปขายได้โดยตรง ได้แก่ศิลปะการแสดงทั้งหลาย เพราะหนึ่งในธุรกิจที่เฟื่องฟูขึ้นในระยะแรกที่ชาวนา (ภาคกลาง) ได้กำไรดีจากการทำนาส่งออกคือธุรกิจบันเทิง
การประชันวงปี่พาทย์ซึ่งเริ่มจะดุเดือดมากขึ้น ก็เริ่มในสมัยนี้ เพราะชัยชนะหมายถึงตลาดที่กว้างขึ้นและมั่นคงขึ้นของวง หรือหมายถึงการอุปถัมภ์ที่มีราคาแพงขึ้น จึงต้องสู้กันอย่างเอาเป็นเอาตาย
เช่นเดียวกับหนังตะลุง, ลำตัด, เพลงฉ่อย และต่อมาก็ลิเก ต่างต้องหวงลูกเล่น หวงกลเม็ดเด็ดพราย รวมทั้งหวงตัวพระตัวนาง เพราะล้วนเป็นการแข่งขันกันเพื่อหากำไรในตลาดทั้งสิ้น
ผมคิดว่า ตำนานเรื่องคนไทยหวงวิชาเกิดขึ้นในช่วงนี้ เมื่อวิชาต่าง ๆ กลายเป็นสินค้าได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าวิชาทำว่าว (ขาย), วิชาทำตะกร้อ (ขาย), วิชาทำขนม (ขาย), วิชา ฯลฯ ซึ่งสามารถทำขายได้
แต่ลองไปดูวิชาความรู้ที่ยังไม่กลายเป็นสินค้าดูเถิดครับ ผมเห็นของชาวบ้านไทยแม้จนถึงทุกวันนี้ ไม่เห็นจะหวงอะไรเลย บางกรณียังอุตส่าห์หาทางเผยแพร่วิชาเหล่านั้นฟรี ๆ เสียด้วยซ้ำ ชาวบ้านปากมูลระดมกำลังคนเฒ่าคนแก่มารวบรวมความรู้เกี่ยวกับปลาในลำน้ำมูล (ตามวิธีจำแนกแบบชาวบ้าน ไม่ใช่แบบสัตวศาสตร์ของฝรั่ง - ซึ่งขายได้) กันจนได้ประเภทของปลาเกือบจะเท่ากับที่นักวิทยาศาสตร์เคยรวบรวมไว้ได้ ไม่เห็นหวงวิชาอะไรเลย
ผมไม่ปฏิเสธนะครับว่า ในทุกสังคม (และคงจะทุกสมัย) ความรู้กับสถานภาพทางสังคมแยกออกจากกันยาก เ่ช่นในเมืองไทยคงเป็นไม่ได้ที่จะมีนักเปียโนฝีมือระดับโลกที่มาจากสลัม ถึงจะมีทุนเรียนเปียโนแจกฟรีให้แก่เด็กเยอะแยะแค่ไหนก็ตาม เพราะสิ่งแรกที่เด็กซึ่งจะเป็นนักเปียโนระดับโลกต้องมี คือเปียโนที่บ้านครับ
ฉะนั้น จึงมีวิชาบางชนิดในสังคมโบราณที่เขาไม่เปิดเผยแก่คนทั่วไปอยู่บ้าง ผมจัดวิชาเหล่านี้ว่า เป็นวิชาแห่งอำนาจ เช่น ไสยศาสตร์ เป็นต้น แต่ก็ไม่ใช่การหวงวิชาอยู่ดีนะครับ เพราะที่เขาต้องปิดบังความรู้ทางไสยศาสตร์กันก็เพราะมันมีอันตราย เที่ยวแจกจ่ายให้คนไม่เลือกหน้าไม่ได้ จึงต้องมีข้อกำกับทางศีลธรรมของความรู้ทางไสยศาสตร์ เพื่อไม่ให้อำนาจตกอยู่ในมือของคนชั่ว
วิชาบางอย่างก็อาจต้องหวงไว้สำหรับตระกูล เพราะไปเกี่ยวกับสถานะทางสังคม (ซึ่งก็คืออำนาจในอีกรูปหนึ่ง) เช่นเป็นโหราจารย์ในราชสำนัก หรือเป็นหมอผีของสังคมชนเผ่าบางสังคม
หมอผี เป็นสถานะทางอำนาจอย่างแน่นอน ในบางชนเผ่าจึงใช้วิธีสืบทอดสถานะนี้ผ่านทางสายโลหิต (คล้ายกับพราหมณ์) บางชนเผ่าใช้การเลือกจากคนที่มีลักษณะพิเศษบางอย่าง เอามาฝึกปรือจนสามารถทำหน้าที่ของหมอผีได้ และได้สืบทอดตำแหน่งต่อไป แต่ความรู้ที่จะเป็นหมอผี ย่อมไม่ใช่ความรู้สาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงหมด
เรื่องนี้เข้าใจได้ไม่ยาก แต่กรณีเช่นนี้ การหวงวิชาไม่ใช่บุคคลเป็นผู้หวงเพียงคนเดียว แท้จริงแล้วสังคมทั้งสังคมนั่นแหละที่ต้องหวงเอาไว้กับบางคนเท่านั้น เพราะการกระจายความรู้โดยไม่เลือก ย่อมกระทบต่อโครงสร้างสังคมทั้งหมด
คนไทยปัจจุบันจึงหวงวิชากว่าคนไทยในอดีต และฝรั่งหวงวิชากว่าไทย เพราะฝรั่งมีวิชาที่ต้องหวงมากกว่าไทย และนั่นคือวิชาที่เป็นสินค้าขายดีในตลาด