June 01, 2005

เปิดตลาดเพลงด้วยการขโมย

โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1291 ประจำวันที่ 13-19 พฤษภาคม 2548

หลายสิบปีมาแล้ว เมื่อตอนที่มีเทปตลับออกมาใหม่ ๆ ผมอยากได้เหลือกำลัง เพราะจะได้ฟังเพลงที่อยากฟัง โดยไม่ต้องนั่งลุ้นทางวิทยุว่าเมื่อไรจะมีให้ฟังเสียที จนในที่สุดก็ได้ครอบครองวิทยุและเครื่องเล่นอันหนึ่งเมื่อราคาถูกลงมามากแล้ว

อยากฟังเพลงอะไรในสมัยนั้นง่ายนิดเดียว เพราะมีร้านที่รับจ้างอัดเพลงลงเทป ตามคำสั่งของเราอยู่ทั่วทุกหัวระแหง อยากได้เพลงอะไรก็จดรายชื่อลงไปให้ได้หนึ่งตลับ แล้วไปยื่นให้เขาอัดให้ วันหลังก็ไปรับมาฟังได้เลย

ถ้าจำไม่ผิดดูเหมือนจะเพลงละ 5 บาท

ครับ ขโมยล่ะสิครับ โดยร่วมมือกันระหว่างพ่อค้ารับจ้างอัดเทปกับผู้บริโภค ขโมยสิ่งประดิษฐ์ของคนอื่นหน้าตาเฉย

แต่สาบานได้เลยนะครับว่า ผม (และคงจะผู้ซื้อเพลงส่วนใหญ่) ไม่ได้สำนึกสักนิดเดียวว่านี่เป็นการขโมย ผมเชื่อว่าพ่อค้าผู้รับจ้างอัดก็ไม่ได้สำนึกเหมือนกันว่าตัวกำลังขโมยของใคร เพราะเขาติดป้ายโฆษณาไว้หน้าร้านอย่างไม่สะทกสะท้านอะไรทั้งสิ้น (คือไม่สะทกสะท้านตำรวจซึ่งสมัยนั้นไม่จับ เพราะบริษัทแผ่นเสียงไม่ได้ลงทุนให้จับ และไม่สะทกสะท้านต่อมโนธรรมสำนึกของตนเอง)

นั่นมันก่อนที่เพลงจะเป็น ธุรกิจทำกำไรมโหฬารเหมือนปัจจุบัน บริษัททำเทปที่อัดแล้วขายยังไม่มีในเมืองไทย ส่วนบริษัทแผ่นเสียงก็พิมพ์ครั้งหนึ่งไม่กี่พันแผ่น ฟังกันมาก ๆ ก็ดีแล้ว จะได้ขายแผ่นเสียงให้หมดไปเสียเร็ว ๆ แท้จริงธุรกิจขโมยเพลงอัดลงเทปยังช่วยซื้อแผ่นเสียงเสียด้วยซ้ำ

จะว่าไป ตอนนั้นเพลงยังไม่ใช่สินค้า อย่างน้อยก็ไม่ใช่สินค้าที่ทำกำไรมากมายนัก ใคร ๆ ก็ฟังฟรี จากวิทยุทั้งนั้น

(ผมขอออกตัวไว้ด้วยว่า การที่เพลงไม่ใช่สินค้าไม่ได้แปลว่าไม่มีใครเสียเปรียบ ดูเหมือนจะเป็นคุณสุเทพ วงศ์กำแหง ที่เคยให้สัมภาษณ์ว่าได้ค่าจ้างร้องเพลงอัดแผ่นเพียงเพลงละ 50 บาทเท่านั้น ไม่ทราบว่าครูเพลง, วงดนตรี, ลูกจ้างที่เป็นผู้คุมเครื่อง ฯลฯ จะได้สักเท่าไร)

เพลงมากลายเป็นสินค้าในเมืองไทยก็เพราะเทปตลับ คือนอกจากราคาถูกที่ซื้อหาได้ไม่ยากแล้ว เครื่องเล่นยังราคาถูกอีกด้วย เกิดตลาดขึ้นอย่างฉับพลัน แล้วก็มีพ่อค้าเข้ามาทำธุรกิจนี้ จนมั่งคั่งร่ำรวยอย่างที่เราเห็นในทุกวันนี้

อย่างเดียวกับซีดีและซีดีคาราโอเกะกำลังไล่เตะเทปตลับออกไปจากตลาดในปัจจุบัน เพราะราคาถูกทั้งแผ่นและเครื่องเล่น

ฉ ะนั้น จะพูดว่าการขยายตัวของธุรกิจเพลงเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีก็ได้ แต่ผมคิดว่าถึงเกิดได้เพราะเทคโนโลยี แต่ไม่ใช่เทคโนโลยีล้วน ๆ ที่ทำให้เกิดตลาดเพลงอย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้

ก่อนที่เทคโนโลยี จะทำให้เกิดผลอย่างนี้ จำเป็นต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการเสพย์ “เพลง” ในสังคมไทยเสียก่อน นั่นคือตลาดไม่ได้เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี แต่ตลาดเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนวัฒนธรรมการเสพย์เพลง

ผมขอสรุปวัฒนธรรมการเสพย์เพลงในช่วงก่อนที่จะกลายเป็นสินค้าให้ฟังอย่างสั้น ๆ ดังนี้

เพลงนั้นเสพย์ฟรีครับ เพราะใคร ๆ ก็ฟังเพลงจากวิทยุเท่านั้น ได้คุณภาพเสียงที่ไม่ดีเท่าไหร่ เพราะวิทยุส่วนใหญ่ยังส่งระบบโมโน คนที่มีเครื่องเสียงไว้ฟังแผ่นนั้นมีน้อยเต็มทน เครื่องก็แพงแผ่นก็แพง แต่เพราะคุณภาพเสียงวิทยุที่ไม่ดีนักนี่แหละ ที่ทำให้ยอมรับเทปตลับ ซึ่งเอาเข้าจริงก็ให้เสียงที่ไม่ดีนัก ได้อย่างง่าย ๆ

ยิ่งกว่านี้ ผมควรกล่าวด้วยว่า วิทยุนี่แหละเป็นผู้ขยายการ “ฟัง” เพลงให้ประชาชนไทยส่วนใหญ่ ในขณะที่ในวัฒนธรรมเดิมนั้น คนไทย “ฟัง-ชม-ร่วม” เพลง ไม่ได้ “ฟัง” เฉย ๆ ประเพณี “ฟัง” เพลงเฉย ๆ เกิดกับคนชั้นสูงก่อนในประมาณ ร.4 ลงมา แต่เพิ่งขยายตัวไปยังประชาชนในวงกว้างก็ต่อเมื่อมีวิทยุกันแพร่หลายแล้ว

แม้กระนั้น คนชอบฟังเพลงจากวิทยุยังไมได้ “ฟัง” เฉย ๆ แต่เคยชินที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย โดยเฉพาะการขอเพลงมอบให้คนโน้นคนนี้ ทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักเป็นส่วนตัว

วิทยุทำให้เกิด “นักเพลง” ซึ่งไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน คือคนชอบฟังเพลงแล้วเข้าไปทำกิจกรรมบางอย่างกับกลุ่มผู้ฟังอื่น (เขียนจดหมายถึงผู้จัดรายการ และขอเพลง เป็นต้น) “นักเพลง” จึงฟังเพลงโดยมีสำนึกว่าฟังร่วมอยู่กับคนอื่น ไม่ใช่ฟังด้วยความชื่นชมอยู่คนเดียว

อย่างไรก็ตาม คนฟังวิทยุที่ไม่ใช่ “นักเพลง” ยังมีอีกมาก คนเหล่านี้ถูกวิทยุสอนให้ “ฟัง” เพลงเฉย ๆ โดยไม่ต้อง “ชม-ฟัง-ร่วม” จนเคยชินกับวัฒนธรรมการเสพย์เพลงอีกอย่างหนึ่ง

วัฒนธรรมการเสพย์เพลง แบบใหม่นี่แหละ ที่เปิดทางให้เทปตลับ ถ้านายฮันเตอร์ พ่อค้าอังกฤษสมัย ร.3 นำเทปตลับและเครื่องเล่นมาขาย คงไม่มีคนซื้อ ปราศจากซึ่งวัฒนธรรมอันนี้ ไม่มีทางที่เทปตลับจะขายออก

แต่ก่อนที่วัฒนธรรมฟังเพลงจากวิทยุจะเคลื่อนมาสู่การฟังเพลงจากเทปตลับ ยังต้องการอีกอย่างหนึ่งครับ นั่นคือการละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการขโมย

ก็เคยฟังฟรี ๆ จากวิทยุมาก่อน ถ้าต้องเสียเงินซื้อเพลงหนึ่งตั้งยี่สิบบาท จะมีใครซื้อเพลงมาฟังหรือครับ ซ้ำซื้อทั้งตลับยังอาจได้เพลงที่อยากฟังไม่ถึง 5 เพลงเสียอีก จะมิแพงขึ้นไปใหญ่หรือ ฉะนั้น จึงไปจ้างเขาอัดในราคาเพลงละ 5 บาท ได้ทุกเพลงที่ถูกกับคอตัวเองด้วย

ฟังบ่อย ๆ ก็เกิดความมั่นใจที่จะร้องเองมากขึ้น กลายเป็นประเพณีร้องเพลงในงาน และในโอกาสที่ถูกคะยั้นคะยอให้ร้อง กลายเป็นฐานให้แก่ตลาดคาราโอเกะทุกรูปแบบต่อมา

เทปตลับยังทำให้ “นักเพลง” อำลาเวทีไป เพราะการฟังเพลงจากเทปตลับคือการฟังคนเดียว ไม่มีการสื่อสารกับชุมชน “นักเพลง” อย่างเคย เหมือนฟังรายการ “กล่อมนิทรา” จากวิทยุก่อนนอน ฟังเองเคลิ้มเอง แล้วนอนเอง ไม่เกี่ยวกับคนอื่น

วัฒนธรรมการเสพย์เพลงใหม่แบบนี้เองที่เปิดทางให้แก่ ซาวนด์เบาต์และเอ็มพีสาม ซึ่งตัดโลกภายนอกออกไปโดยสิ้นเชิงด้วยหูฟัง เหลืออยู่แต่ตัวเองและเพลงเท่านั้น

วัฒนธรรมฟังเพลงแบบนี้แพร่หลายได้รวดเร็ว ส่วนหนึ่งก็เพราะการขโมยล่ะครับ เปิดทางให้ผู้คนเข้ามาคุ้นเคยกับการเสพย์เพลงแบบใหม่ จนกระทั่งการทำเทปที่อัดมาแล้วขายเกิดขึ้นได้

อันที่จริง ผมใช้คำว่า “ขโมย” เพลง ก็เป็นความคิดที่เกิดใหม่ เพราะตามปกติเราไม่อาจขโมยสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ เพลงไทยแต่ก่อนเป็นสมบัติร่วมกันของสังคม ใครเอาไปเล่นก็ได้ แม้แต่ศิลปินฝรั่งซึ่งเข้าสู่ตลาดก่อนเรา ตอนแรกก็เป็นผู้รับจ้างทำของเท่านั้น คือรับจ้างแต่งเพลงตามที่ผู้จ่ายเงินหรือผู้อุปถัมภ์ต้องการ แต่งแล้วก็กลายเป็นสมบัติสาธารณะไป

ยิ่ง “ขโมย” ฟังยิ่งไปกันใหญ่ เพราะหูมันผ่าได้ยินเอง แล้วใจก็เคลิ้มตามไปเองนี่หว่า

แนวคิดความเป็นเจ้าของสิ่งที่เป็นนามธรรม จนทำให้เกิดการขโมยสิ่งที่เป็นนามธรรม เพิ่งเกิดไม่นานมานี้เอง และผมเชื่อว่ายังไม่สู้จะลงหลักปักฐานมั่นคงนักในสังคมไทย ที่เราละเมิดลิขสิทธิ์กันอย่างหน้าตาเฉยในทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะเราจนหรือเพราะเราหน้าด้าน แต่เราได้แต่ “รู้” ว่ามันเป็นการขโมยตามมาตรฐานฝรั่ง แต่ไม่ได้ “รู้สึก” ว่าเป็นการขโมยซึ่งผิดศีล

ผมชวนคุยเรื่องเพลงจากเทปตลับ (หรือซีดี) ก็เพื่อจะยืนยันสิ่งที่รู้ ๆ กันอยู่แล้วว่า ไม่มีอะไรที่ดีเพียงส่วนเดียว หรือเสียเพียงส่วนเดียว เพราะดีหรือเสียนั้นกำหนดกันขึ้นจากกิเลสของมนุษย์เท่านั้น

การขโมยลิขสิทธิ์นั้นมีข้อเสียเยอะแยะ และพ่อค้ากับอเมริกันก็ร่วมมือกันโฆษณาข้อเสียให้ได้ยินกันอยู่เสมอแล้ว แต่ข้อดีของการขโมยลิขสิทธิ์ก็มีอยู่อย่างที่ผมกล่าวแล้ว นั่นก็คือ ถ้าไม่มีการขโมยเพลงนำทางมาก่อน ธุรกิจเพลงก็คงไม่เฟื่องฟูอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

เมื่อวัฒนธรรมการเสพย์เพลงได้แพร่หลายมากถึงขนาดนี้ การขโมยย่อมขัดขวางธุรกิจเพลงอย่างแน่นอน กลายเป็นหาส่วนดีจากการขโมยลิขสิทธิ์ไม่ได้เอาเลย สรุปก็คือ ดีหรือเสียขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ไม่มีอะไรดีเฉย ๆ หรือเสียเฉย ๆ

ผมจึงอยากพูดถึงข้อเสียของการให้สิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญาที่ยาวนาน หรือแน่นหนาเกินไปบ้าง เพราะพูดถึงกันน้อยไปหน่อย

ระบอบทรัพย์สินทางปัญหาที่มหาอำนาจพยายามยัดเยียดให้ใช้กันทั่วโลกนั้น มองประโยชน์ทางธุรกิจเป็นหลัก พ่อค้าใช้ระบอบนี้ไม่ใช่เพื่อคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่ใช้เพื่อเอาเปรียบผู้บริโภคต่างหาก คนที่ซื้อโปรแกรมปฏิบัติการคอมพิวเตอร์มาใช้ คงรู้ดีว่าถูกเอาเปรียบจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างไร เราไม่มีโอกาสแม้แต่จะ “พอเพียง” กับโปรแกรมที่รับใช้เราได้ดีแล้วด้วยซ้ำ ต้องคอยเปลี่ยนไปตามประกาศิตของบริษัท เราจะหาโปรแกรมใช้งานมาป้อนคอมพิวเตอร์ของเราไม่ได้อีกต่อไป

ส่วนนักประดิษฐ์ก็ไม่สู้จะได้ประโยชน์อะไรนัก เพราะเป็นแค่ลูกจ้างของบริษัท ถึงคิดให้หัวผุอย่างไรก็เพียงแต่ไม่ถูกไล่ออกเท่านั้น รายได้คือเงินเดือนเหมือนเดิม คนที่รวยเอารวยเอาคือผู้ถือหุ้น ไม่ใช่พนักงาน

ระบอบทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นธรรมและเสริมสร้างการปร ะดิษฐ์คิดค้น จึงไม่ใช่ระบอบที่เราใช้กันอยู่ จำเป็นต้องร่วมมือนั่งลงคิดกันใหม่ทั้งระบบ ที่จะทำให้ผู้ลงทุนและนักประดิษฐ์ได้ผลตอบแทนที่คุ้มพอสมควร แต่ไม่คุ้มถึงกับทำให้นักลงทุนไม่ยอมลงทุนกับการคิดค้นอะไรใหม่ ๆ อีกเลย

ในขณะเดียวกัน การถือกรรมสิทธิ์เหนือสิ่งประดิษฐ์ ต้องไม่ทำให้การแข่งขันเป็นไปไม่ได้

เราต้องไม่ลืมว่า การประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ทั้งหลายนั้น เกิดขึ้นได้เพราะผู้ประดิษฐ์คิดค้นเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษยชาติ ฉะนั้น ถึงที่สุดแล้วสิ่งประดิษฐ์คิดค้นนั้นย่อมเป็นสมบัติของมนุษยชาติ อย่างที่งานของเชกสเปียร์และศรีปราชญ์เป็น

This page is powered by Blogger. Isn't yours?